เผยแพร่เมื่อ : อังคาร 17 มีนาคม 2563 โดย อภิญญา พูลทรัพย์ จำนวนผู้เข้าชม 8350 คน
วันที่ 17 มีนาคม 2563 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) และหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์ โดยการสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมจัดแถลงข่าว “ร่วมวิจัย และพัฒนานวัตกรรมหน้ากากผ้านาโนกันไรฝุ่น (WIN-Masks: Washable Innovative Nano-Masks) เพื่อป้องกัน COVID-19” โดยมี ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เป็นประธานแถลงข่าวร่วมด้วย รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการ รพ.ศิริราช ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ รองผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ รศ.ดร.พานิช อินต๊ะ หัวหน้าหน่วยวิจัยสนามไฟฟ้า (ประยุกต์) วิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ มทร.ล้านนา รศ.วรรณะ มหากิตติคุณ นักวิจัยพัฒนาผ้ากันไรฝุ่นศิริราช และ รศ.นพ.เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ รองผู้อำนวยการ รพ.ศิริราช ณ ห้อง C 203 อาคารศรีสวรินทิรา ชั้น 2 รพ.ศิริราช
นวัตกรรมหน้ากากผ้านาโนกันไรฝุ่น (WIN-Masks: Washable Innovative Nano-Masks เพื่อป้องกัน COVID-19 เป็นหน้ากากสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่ได้สัมผัสกับผู้ป่วยที่ยืนยันว่าติดเชื้อ COVID-19 โดยตรง ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติงานในพื้นที่ความเสี่ยง และประชาชนที่ต้องอยู่ในกลุ่มชนหรือพบปะผู้คนจำนวนมาก เพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสโคโรนา ขณะเดียวกันลดขยะปนเปื้อนจากหน้ากากอนามัยแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งได้ด้วย โดยตัวหน้ากากมีโครงสร้าง 3 ชั้น 1) ผ้ากันไรฝุ่นศิริราชชนิดทอแน่น เคลือบสารนาโนกันน้ำ 2) ผ้าไมโครไฟเบอร์ผสม ZnO ที่มีคุณสมบัติยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย 3) ผ้าฝ้ายที่สามารถดูดซับน้ำจากไอจาม ผ้า 3 ชั้นทำงานร่วมกัน ทำให้สามารถกรองฝุ่นและละอองฝอยจากเสมหะขนาดเล็กระดับ 2.5-5 ไมครอนได้ ซักล้างได้ มีคุณภาพมาตรฐาน ผ่านการทดสอบจากห้องปฏิบัติการที่น่าเชื่อถือ
WIN-Masks พัฒนาขึ้นภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) โดยการสนับสนุนของ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
การส่งมอบ ระยะแรก ภายใน 3 สัปดาห์ จะสามารถส่งมอบได้ไม่เกิน 7,000 ชิ้น ภายใต้บรรจุภัณฑ์ฆ่าเชื้อ ให้กับโรงพยาบาลหลัก ๆ ก่อน ส่วนการขยายผลต่อไปจะระดมทุนโดยอาศัยกลไก Crowd Funding ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ให้โรงงานที่ได้มาตรฐาน รับดำเนินการผลิตขยายผลให้บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ และดำเนินการให้ถึงมือประชาชนทั่วไปเป็นจำนวนหลักหมื่นหรือหลักแสนชิ้น ขึ้นอยู่กับผลการระดมทุนและกำลังการผลิตของโรงงาน
ขอบคุณข้อมูลจาก รศ.ดร.พานิช อินต๊ะ หัวหน้าหน่วยวิจัยสนามไฟฟ้า (ประยุกต์) วิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ มทร.ล้านนา
ขอบคุณภาพวิดีโอจาก ช่อง Youtube: siriraj channel
เวบไซต์ https://www.hfocus.org/ และ https://www.springnews.co.th/alive/innovation-alive/631626
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา