โลโก้เว็บไซต์ มทร.ล้านนา เปิดเวทีสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างประธานหลักสูตรและครูพี่เลี้ยงในโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่  พร้อมร่วมสะท้อนมุมมองและถอดบทเรียนจากกระบวนการจัดเรียนการสอนเชิงบูรณาการกับการทำงานสหกิจศึกษา | งานสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

มทร.ล้านนา เปิดเวทีสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างประธานหลักสูตรและครูพี่เลี้ยงในโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่  พร้อมร่วมสะท้อนมุมมองและถอดบทเรียนจากกระบวนการจัดเรียนการสอนเชิงบูรณาการกับการทำงานสหกิจศึกษา

เผยแพร่เมื่อ : ศุกร์ 28 สิงหาคม 2563 โดย วิทยา กวีวิทยาภรณ์ จำนวนผู้เข้าชม 8846 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

     มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จัดการอบรมสัมมนา "การจัดรูปแบบการเรียนการสอนโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ใสถาบันอุดมศึกษา" ระหว่างวันที่ 28-30 สิงหาคม 2563 ณ สวนพฤกษศาสตร์ทวีชล อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เพื่อเป็นเวทีให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียนจากกระบวนการจัดการเรียนการสอนเชิงบูรณาการกับการทำงานสหกิจศึกษา  ที่ส่งผลกระทบต่อคณาจารย์/นักศึกษา ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ทั้งด้านบวกและด้านลบ พร้อมทั้งให้ผู้เข้าร่วมโครงการเกิดความรู้ความเข้าใจและเห็นความสำคัญของการจัดการความรู้  จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในด้านการจัดการเรียนการสอนรูปแบบใหม่รวมถึงองค์ความรู้ในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอันจะก่อให้เกิดประโยชน์ในการจัดการเรียนการสอนภายใต้โครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ในอนาคต 
     โดยมี รศ.ดร.ธีระศักดิ์ อุรัจนานนท์ รองอธิการฝ่ายวิชาการและกิจการนักศึกษา เป็นประธานกล่าวเปิดโครงการ และ ดร.กิจจา ไชยทนุ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นผู้กล่าวรายงานการจัดโครงการต่อประธาน สำหรับผู้ที่เข้าร่วมโครงประกอบด้วย อาจารย์ผู้จัดการโครงการ ครูพี่เลี้ยง จากหลักสูตรต่างๆ ได้แก่  1.หลักสูตร วศ.บ.วิศวกรรมเกษตรและชีวภาพ วิชาเอกเกษตรอิเล็กทรอนิกส์ 2.หลักสูตร วศ.บ.วิศวกรรมเกษตรและชีวภาพ วิชาเอกวิศวกรรมเกษตร 3.หลักสูตร วศ.บ.วิศวกรรมเกษตรและชีวภาพ วิชาเอกชีวภาพ 4.หลักสูตร วศ.บ.วิศวกรรมอุตสาหการ วิชาเอกวิศวกรรมการผลิต 5.หลักสูตร วศ.บ.วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และระบบอัตโนมัติ วิชาเอกวิศวกรรมระบบอัตโนมัติ 6. หลักสูตร วศ.บ.วิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์  และในโอกาสเดียวกันนี้ รศ.ศีลศิริ สง่าจิตร ผู้ปฏิบัติหน้าที่อธิการบดี มทร.ล้านนา ได้บรรยายให้แนวทางเกี่ยวกับการถอดองค์ความรู้โครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ สู่การจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ โดย รศ.ศีลศิริ ได้กล่าวว่า "การศึกษาในหลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่คือการเรียนรู้ที่ได้ปฏิบัติจริง และได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์ตรงจากผู้ประกอบการซึ่งนักศึกษาในโครงการจะมีจุดเด่นคือ มีวินัย มีความรับผิดชอบสูง และมีทักษะการตัดสินใจในการแก้ปัญหาฉะนั้นจึงอยากให้ผู้รับผิดชอบในแต่ละหลักสูตร ช่วยกันถอดบทเรียนและขยายผลรูปแบบการเรียนการสอนในรูปแบบบัณฑิตพันธุ์ใหม่
นำมาสู่การจัดการศึกษากันนักศึกษาในระบบปกติ ควบคู่กับการพัฒนาทักษะด้านภาษาอังกฤษและมาตรฐานไอที ตลอดจนทักษะด้านอื่นๆ ให้เป็นไปตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (Thai Qualifications Framework for  :TQF) " 

     โครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ภายใต้การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูง สำหรับอุตสาหกรรม New Growth Engine ตามนโยบาย Thailand 4.0 และการปฏิรูปการอุดมศึกษาไทย มหาวิทยาลัยฯ ได้มีร่วมผลิตบัณฑิตตามปรัชญาหลักสูตร ที่มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และการประยุกต์ใช้วิชาการด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี วิศวกรรมและการจัดการ เพื่อปรับปรุงพัฒนา และแก้ไขปัญหากระบวนการดำเนินงานในภาคอุตสหกรรม ที่สามารถสนองตอบการแก้ปัญหาและความต้องการของภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง ผ่านการจัดการเรียนการสอนเชิงบูรณาการกับการทำงานและการปฏิบัติงานสหกิจศึกษา  มีทักษะเป็นผู้ประกอบการ พร้อมทั้งเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม มีคุณธรรม จริยธรรม ควบคู่กับจรรยาบรรณในวิชาการและวิชาชีพ โดยมีการดำเนินโครงการร่วมกับบริษัทเบทาโกร กลุ่มบริษัท BDI และภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ 
 








ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา