โลโก้เว็บไซต์ สองหนุ่มราชมงคลล้านนาตัวแทนประเทศไทย ฝ่าด่านภารกิจสุดหิน การแข่งขันหุ่นยนต์เคลื่อนที่ คว้าอันดับ 3 เวที World Skills Asia Online Friendly Skills Game 2021 | งานสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

สองหนุ่มราชมงคลล้านนาตัวแทนประเทศไทย ฝ่าด่านภารกิจสุดหิน การแข่งขันหุ่นยนต์เคลื่อนที่ คว้าอันดับ 3 เวที World Skills Asia Online Friendly Skills Game 2021

เผยแพร่เมื่อ : จันทร์ 16 สิงหาคม 2564 โดย อภิญญา พูลทรัพย์ จำนวนผู้เข้าชม 13742 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

      สองเยาวชนจากมทร.ล้านนา ตัวแทนประเทศไทย  ลงสนามแข่งขันหุ่นยนต์เคลื่อนที่ (Mobile Robotics) ฝ่าด่านภารกิจสุดหิน การจำลองการส่งเวชภัณฑ์ยาในรูปแบบออนไลน์ ชิงชัยร่วม 10 ประเทศ ทั่วเอเชีย จบ 4 ภารกิจทำผลงานเยี่ยม คว้าอันดับ 3 มาครอง ตีตั๋วเข้าแข่งขันระดับโลก

          นายนฤมิต ศรีเยาว์เรือน และนายธรรมฐิติ ทาวงค์ นักศึกษาสาขาวิศวกรรมระบบควบคุมอัตโนมัติ ชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ล้านนา เยาวชนตัวแทนประเทศไทย คว้ารางวัลอันดับที่ 3 การแข่งขัน World Skills Asia Online Friendly Skills Game 2021 ในสาขาหุ่นยนต์เคลื่อนที่ (Mobile Robotics) โดยมีอาจารย์จักรรินทร์ ถิ่นนครเป็นอาจารย์ที่ผู้ฝึกสอน ซึ่งจัดการแข่งขันในรูปแบบออนไลน์ ระหว่างวันที่ 9-12 สิงหาคม 2564 มีทีมเยาวชนเข้าร่วมการแข่งขันจากแถบทวีปเอเชียจำนวน  10 ประเทศสำหรับการแข่งขันครั้งนี้ เป็นภารกิจการจำลองระบบขนส่งเวชภัณฑ์ยาไปยังพื้นที่ห้องผู้ป่วย ตามคำสั่งที่ได้รับ  โดยมีภารกิจทั้งหมด 4 ภารกิจหลัก ดังนี้

          ภารกิจที่ 1 เป็นการทดสอบสมรรถนะของหุ่นยนต์ มี 10 ภารกิจย่อย

          ภารกิจที่ 2 การนำส่งเวชภัณฑ์ยา โดยใช้กล้องตรวจจับกล่องยา (กล่องสีน้ำเงินและกล่องสีขาว) เพื่อไปส่งยังห้องผู้ป่วย โดยกำหนดโดยในห้องสุดท้าย หุ่นยนต์ถือกล่องยาทั้งกล่องสีน้ำเงินและสีขาว เพื่อให้หุ่นยนต์เคลื่อนที่เข้าไปในห้องพยาบาล นำส่งกล่องยาโดยจะต้องวางกล่องยาซ้อนบนกล่องยาที่วางอยู่ก่อนแล้ว

           ภารกิจที่ 3 การนำส่งเวชภัณฑ์ยาโดยใช้กล้องตรวจจับกล่องยา (กล่องสีน้ำเงินและกล่องสีขาว) เพื่อไปส่งยังห้องผู้ป่วย โดยกำหนดและนำวัตถุอันตรายออกจากพื้นที่ โดยต้องนำส่งกล่องยาสีขาวและนำกล่องสีเหลืองวัตถุอันตรายออกจากพื้นที่ห้อง เพื่อนำไปทิ้งในโซนที่กำหนด พร้อมกับหุ่นยนต์เคลื่อนที่กลับไปยังจุดเริ่มต้น แล้วหมุน 540 องศา

           และภารกิจที่4 การจำลองระบบขนส่งเวชภัณฑ์ยาไปยังพื้นที่ห้องผู้ป่วย ตามคำสั่งที่ได้รับ กำหนดระยะเวลาหุ่นยนต์ทำภารกิจภายใน 10 นาทีและภารกิจนี้ให้ใช้กล้องตรวจจับกล่องยา (กล่องสีน้ำเงินและกล่องสีขาว) เพื่อไปส่งยังห้องผู้ป่วย โดยกำหนด แล้วหุ่นยนต์ต้องตรวจสอบกล่องสีเหลืองวัตถุอันตรายเพื่อนำออกจากพื้นที่ห้อง นำไปทิ้งในโซนที่กำหนด พร้อมกับหุ่นยนต์เคลื่อนที่กลับไปยังจุดเริ่มต้น แล้วหมุน 540 องศา เพื่อทำการจำลองการพ่นฆ่าเชื้อ

            ซึ่งทีมเยาวชนไทยทั้ง 2 คน สามารถทำภารกิจทั้งหมดได้สำเร็จ ตามเวลาที่กำหนดและสามารถทำคะแนนได้ 720 คว้ารางวัลอันดับที่ 3 มาครอง

           น้องกุ้ง นฤมิต ศรีเยาว์เรือน  หนึ่งในสมาชิกทีม เปิดใจว่า “ตนและเพื่อนร่วมทีมรู้สึกดีใจมาก ที่สามารถคว้ารางวัลอันดับที่ 3 มาครองได้ การแข่งขันครั้งนี้ เป็นภารกิจที่ถือว่าโจทย์ค่อนข้างท้าทายเป็นอย่างมาก เพราะว่าต้องฝ่าฟันภารกิจสุดโหดถึง 4 ภารกิจ ซึ่งในแต่ละภารกิจก็จะมีด่านย่อยอีกจำนวนมาก ซึ่งทั้งหมดเป็นการจำลองวิธีการส่งยาในโรงพยาบาลด้วยหุ่นยนต์เคลื่อนที่ รวมถึงการตรวจสอบวัตถุอันตรายและการนำไปทิ้งและทำความสะอาดหุ่นยนต์ ซึ่งในการแข่งขันก็พยายามนำทักษะที่ได้ฝึกฝนเพื่อให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุดและพยายามสื่อสารกับเพื่อนร่วมทีมในการทำภารกิจแต่ละภารกิจให้สำเร็จและทำเวลาได้ตามที่กำหนด”

           น้องสไปป์ ธรรมฐิติ ทาวงค์ เปิดใจว่า “ก่อนอื่นก็ต้องขอบคุณอาจารย์ทุกท่านที่ให้คำแนะนำในการฝึกซ้อมตลอดมา ขอบคุณมหาวิทยาลัยที่ให้โอกาสและให้ประสบการณ์เข้าร่วมแข่งขันในทุกเวที ต่อจากนี้ก็จะนำประสบการณ์ที่ได้จากการแข่งขันมาพัฒนาทักษะให้ดียิ่งขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่การแข่งขันในระดับต่อไปและพร้อมที่จะถ่ายทอดเทคนิคและประสบการณ์ต่างๆให้แก่รุ่นน้องที่มีความสนใจ”

             มหาวิทยาลัยขอแสดงความชื่นชมยินดีกับนักศึกษาคนเก่งทั้งสองคนที่สร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยและขอร่วมส่งกำลังใจในการฝึกซ้อมเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าร่วมการแข่งขันระดับสากลต่อไป โดยความสำเร็จครั้งนี้จะไม่เกิดขึ้นหากไม่ได้รับการสนับสนุนจาก นาย ภูมิศักดิ์  เวชกามา ผู้เชี่ยวชาญสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 10 ลำปาง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน รวมถึง บริษัทแอสเวลล์ โซลูชั่นส์ จำกัด บริษัท วีนัส ซัพพลาย บริษัทซีเทค ไดแด็คติค จำกัด ร้าน ศรีเมือง Built in  ลำพูน (ทีมงานศิลปะงานไม้) ที่ให้ความอนุเคราะห์อุปกรณ์และให้คำแนะนำตลอดระยะเวลาที่ทำการฝึกซ้อม                          







ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา