เผยแพร่เมื่อ : พุธ 12 มกราคม 2565 โดย นคร คำกิติ จำนวนผู้เข้าชม 4459 คน
วันที่ 11 มกราคม 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำโดย ดร.จันทรวิภา ธนะโสภณ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักประสานงานชุดโครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Innovative House ลงพื้นที่ บริษัท สุธัมบดี จำกัด อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ สนับสนุนงานวิจัย ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาจำนวน 2 โครงการ เพื่อนำองค์ความรู้งานวิจัยมายกระดับวัตถุดิบท้องถิ่นให้เติบโตในเชิงอุตสาหกรรม เกิดผลิตภัณฑ์ที่ดี มีคุณภาพ ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค อันเป็นการเพิ่มมูลค่าให้สินค้าทางการเกษตรของ อ.เขาค้อ ให้เกิดความมั่นคงทางอาชีพและรายได้ในพื้นที่
ดร.จันทรวิภา ธนะโสภณ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักประสานงานชุดโครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Innovative House วช. กล่าวว่า ผลงานวิจัยภายใต้การสนับสนุนจาก วช.,สวทช.และ สกสว. ล้วนมีการนำไปต่อยอดแล้วในระดับอุตสาหกรรม ทั้งนี้เพื่อเป็นการยกระดับและเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการ (SMEs) เกิดผลพวงหลายอย่าง อาทิ ด้านการจัดการปัญหาและเพิ่มมูลค่าผลิตผลทางการเกษตรที่พ้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวหรือมีราคาต่ำ โดยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง ลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสปาร์คกิ้งจากต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นการผลิตเอง ด้านสาธารณสุขในการลดหรือชะลอปัญหาการเกิดโรคต่าง ๆ จากการบริโภคอาหาร เป็นต้น จึงรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่งานวิจัยได้มีส่วนช่วยต่อการพัฒนา
นายยงชาติ ชมดี ผู้บริหารบริษัท สุธัมบดี จำกัด ภายใต้แบรนด์ เขาค้อเฮอร์เบอรี Khaokhoherbary เปิดเผยว่า บริษัทฯใช้แนวคิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยมองหาผลิตผลใกล้ตัวในท้องถิ่นมาแปรรูปสร้างมูลค่าโดยเล็งเห็นว่า “ขิง”ซึ่งเป็นของดีในอำเภอเขาค้อ ยังไม่มีการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพในรูปแบบใหม่อย่างจริงจัง จึงได้ร่วมมือกับนักวิจัย 2 ท่าน เพื่อพัฒนาเครื่องดื่มสุขภาพชนิดสปาร์คกิ้งจากขิงออร์แกนิคด้วยเทคนิคการสกัดและการหมัก และผลิตภัณฑ์สเปรดช็อกโกแลตรสขิงลดไขมัน ซึ่งทางบริษัทมีความทักษะความรู้ด้านโรงงานผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ มาตรฐาน GMP อยู่แล้ว เมื่อได้องค์ความรู้ทางการวิจัยมาช่วยสนับสนุน เชื่อว่าจะสามารถขยายไปถึงการส่งออก อัพเกรดสินค้าให้มีความพรีเมียม สามารถผลักดันเป็นสินค้าทางเลือกสู่มือผู้บริโภคได้อย่างมีคุณภาพ อีกทั้งช่วยชูโรงเป็นของฝากส่งเสริมการท่องเที่ยวได้ส่วนหนึ่ง
ด้าน ผศ.ดร.นิอร โฉมศรี จากสถาบันเทคโนโลยีเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เจ้าของโครงการการพัฒนาเครื่องดื่มสุขภาพชนิดสปาร์คกิ้งจากขิงออร์แกนิคด้วยเทคนิคการสกัดและการหมัก เผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการผลิตเครื่องดื่มประเภทนี้ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งใช้การอัด Co2 เข้าไป แต่เครื่องดื่มที่ทีมวิจัยพัฒนาสูตรให้ผู้ประกอบการจะใช้กระบวนการหมักยีสต์(จุลินทรีย์ที่ดี)กับขิง น้ำเปล่าและน้ำตาล เป็นเวลา 15 ชั่วโมง ในอุณหภูมิปกติ จนเกิดฟองแก๊สโดยธรรมชาติ มีกลิ่มหอม รสสัมผัสนุ่มละมุน ให้ความสดชื่นและดื่มง่ายมากกว่าเครื่องดื่มจากขิงประเภทอื่น ๆ อย่างชัดเจน ขณะนี้ได้ทดลองบรรจุแบบขวดพาสเจอร์ไรซ์ ให้สามารถเก็บได้อุณหภูมิปกติ พร้อมศึกษาอายุการเก็บรักษาและคุณค่าทางอาหาร ซึ่งขิงมีสรรพคุณช่วยขับลม บรรเทาอาการวิงเวียน อยู่แล้วจากการอ้างอิงของงานวิจัยต่าง ๆ โดยจะสนับสนุนการควบคุมการผลิตของ SMEs ให้มีคุณภาพสม่ำเสมอในทุก ๆ ล็อต
นอกจากนี้ ผศ.เฉลิมพล ถนอมวงค์ จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พิษณุโลก เจ้าของโครงการ “การพัฒนาผลิตภัณฑ์สเปรดช็อกโกแลตรสขิงลดไขมัน” เล่าว่า วิถีชีวิตของคนไทยที่เร่งรีบ และกระแสความนิยมทานขนมปังคู่กับผลิตภัณฑ์ประเภทสเปรดแบบชาวตะวันตกในท้องตลาดทั่วไป ประกอบด้วยไขมันและน้ำตาลสูง ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคยังคงสนใจบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากกว่าเดิม สามารถรับประทานได้อย่างสบายใจ ไม่เสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง นักวิจัยและบริษัท สุธัมบดี จำกัด จึงพัฒนาสูตรอาหารสเปรดช็อกโกแลตไขมันต่ำโดยเสริมขิงผง และข้าวหอมมะลิแดงเข้าไป เบื้องต้นสามารถลดองค์ประกอบของไขมันลงไปได้ร้อยละ 35 เมื่อเทียบกับสเปรดช็อกโกแลตอื่น ๆในท้องตลาด ได้กลิ่นและรสชาติจากขิงที่ลงตัว วิธีการผลิตคล้ายกับการผลิตแยมผลไม้ทั่ว ๆ ไป แต่ใช้ต้นทุนต่ำกว่า สามารถรับประทานได้ทุกช่วงวัย ในขั้นต่อไปจะทดสอบสูตรให้ถูกใจผู้บริโภคมากขึ้น เพื่อที่ SMEsจะได้ผลิตให้ได้มาตรฐานต่อไป
สำหรับทั้ง 2 โครงการที่ วช.ได้ลงพื้นที่ในครั้งนี้ เกิดขึ้นภายใต้โครงการการสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง (ระยะที่ ๓) โดยความร่วมมือของ วช. , สวทช. , สกสว. และผู้ประกอบการ SMEs บจก. สุธัมบดี ร่วมกันสนับสนุนและบริหารทุนวิจัย
ขอบคุณภาพจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา