เผยแพร่เมื่อ : พุธ 29 มีนาคม 2566 โดย อภิญญา พูลทรัพย์ จำนวนผู้เข้าชม 2170 คน
วันที่ 28 มีนาคม 2566 งานบริการและสวัสดิการนักศึกษา กองพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จัดโครงการตรวจวัดความเครียดและสุขภาพหลอดเลือดด้วยเครื่องไบโอฟีดแบ็ค (Biofeedback) ให้บริการโดยนักจิตวิทยาคลินิก นักสังคมสงเคราะห์ และนักวิชาการสาธารณสุข จากศูนย์สุขภาพจิตที่ 1 เพื่อให้บุคลากรที่เข้าร่วมโครงการได้รับการตรวจวัดความเครียดและสุขภาพหลอดเลือด เป็นการตรวจสุขภาพกายและสุขภาพจิต และทดสอบความเครียดที่เกิดจากปัจจัยต่างๆ พร้อมทั้งได้รับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพของตนเองในทุกมิติ จากผู้เชี่ยวชาญ โดยมีบุคลากรเข้าร่วมรับการตรวจและรับคำแนะนำจากนักจิตวิทยา ณ บริเวณโถงอาคารศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
สำหรับเครื่องไบโอฟีดแบ็ค ทำงานโดยนำตัววัดมาหนีบบริเวณนิ้วชี้ด้านซ้าย เพื่อวัดอัตราการเต้นของหัวใจ โดยคนที่มีความเครียดอัตราการเต้นของหัวใจจะเต้นๆตุ้มๆต่อมๆ จากนั้นส่งสัญญาณไปยังตัวเครื่องเพื่อแปลผล ซึ่งผู้วัดจะต้องนั่งนิ่งๆ ไม่พูดไม่คุย ผ่อนคลายเป็นเวลา 3-5 นาที และก่อนที่จะทำการวัดด้วยเครื่องนี้ เจ้าหน้าที่จะต้องป้อนข้อมูลส่วนตัวของผู้วัด เช่น ชื่อ เพศ อายุ วันเดือนปีเกิด การแสดงผลจะพิมพ์ออกมาในกระดาษ ซึ่งจะมีผลที่สำคัญ 3 ส่วน ประกอบด้วย
1.ระดับความเครียด จะแสดงเป็นแถบสีไล่จากเขียว ส้ม ไปจนถึงแดง หากยังอยู่ในโซนสีเขียวแสดงว่าระดับความเครียดปกติ โซนสีส้มระดับความเครียดปานกลาง และโซนสีแดงระดับความเครียดสูง
2.ระดับอารมณ์ แสดงผลเป็นแถบสี ไล่ตั้งแต่สีน้ำเงิน เขียวออกฟ้า เขียว เขียวออกเหลือง ส้ม และแดง โดยหากผลอยู่ในโซนสีน้ำเงิน แสดงว่ามีอารมณ์ค่อนข้างเฉื่อยชา แต่หากผลค่อนมาทางโซนสีแดงแสดงว่ามีอารมณ์กระตือรือร้น
3.ระดับการทำงานและพักผ่อน แสดงเป็นกราฟแท่ง 2 สี ได้แก่ สีแดงบอกถึงระดับการทำงาน หากขึ้นสูงแสดงว่าทำงานมาก และสีน้ำเงินหากขึ้นต่ำแปลว่าพักผ่อนค่อนข้างน้อย“เมื่อผู้ที่ผ่านการคัดกรองเบื้องต้นว่าน่าจะมีระดับความเครียดที่น่ากังวล ได้รับการประเมินคัดกรองเบื้องต้นอีกครั้งจากเครื่องไบโอฟีดแบ็คได้ผลเป็นเช่นไรแล้ว จะส่งต่อผู้รับการประเมินให้เข้าคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่หรือจิตแพทย์ต่อไป
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา