โลโก้เว็บไซต์ มทร.ล้านนา ลงนามความร่วมมือ (MOU) กับ มหาวิทยาลัยเกษตรกรรมอันฮุย สาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมขับเคลื่อนการพัฒนาบุคลากร นักศึกษา และงานวิจัยในระดับนานาชาติร่วมกัน   | งานสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

มทร.ล้านนา ลงนามความร่วมมือ (MOU) กับ มหาวิทยาลัยเกษตรกรรมอันฮุย สาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมขับเคลื่อนการพัฒนาบุคลากร นักศึกษา และงานวิจัยในระดับนานาชาติร่วมกัน  

เผยแพร่เมื่อ : พุธ 13 พฤศจิกายน 2567 โดย วิทยา กวีวิทยาภรณ์ จำนวนผู้เข้าชม 1089 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

วันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 รองศาสตราจารย์ ดร.อุเทน คำน่าน รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (มทร.ล้านนา) มอบหมายให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ นำอิน รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ วิจัยและบริการวิชาการ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยมาสฐ์ ตัณฑ์เจริญรัตน์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร นำทีมผู้บริหารและคณาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร ให้การต้อนรับ Prof. CAO Haiqun อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรกรรมอันฮุย สาธารณรัฐประชาชนจีน (Anhui Agricultural University : AAU) พร้อมคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยฯ ในโอกาสเดินทางเข้าร่วมประชุมหารือแนวทางความร่วมมือทางด้านวิชาการ และร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง มทร.ล้านนา และมหาวิทยาลัยเกษตรกรรมอันฮุย ณ ห้องประชุม ชั้น 4 อาคารสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มทร.ล้านนา ถนนห้วยแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ โดยการประชุมและลงนามความร่วมมือนี้จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือทางการศึกษาวิชาการและงานวิจัยระหว่างสองสถาบัน อันจะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพด้านการเรียนรู้และนวัตกรรมที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ

โดยความร่วมมือครั้งสืบเนื่องจากการขับเคลื่อนกิจกรรมสร้างความร่วมมือทางวิชาการและการวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มทร.ล้านนา โดยมุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพทางการศึกษาและวิจัย เพื่อสนับสนุนการพัฒนาผู้เรียน สร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ และตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ด้านวิชาการของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ซึ่งการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ ครอบคลุมกิจกรรมหลากหลายที่จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพทางวิชาการและการเรียนรู้ระหว่างสองมหาวิทยาลัย ทั้งการจัดโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและบุคลากร โครงการวิจัยร่วม การฝึกอบรมนักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอก การร่วมพัฒนาหลักสูตร การจัดประชุมสัมมนาทางวิชาการ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลและเอกสารทางวิชาการที่สำคัญ นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะร่วมกันสร้างวารสารและสิ่งพิมพ์ทางวิชาการในอนาคต เพื่อเป็นเวทีเผยแพร่ความรู้และผลงานวิจัยสู่สากล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ นำอิน รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ วิจัยและบริการวิชาการ กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า “ในฐานะผู้บริหารมหาวิทยาลัย การลงนามในความร่วมมือครั้งนี้เป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาและบุคลากรของเราสามารถเข้าถึงทรัพยากรการเรียนรู้และงานวิจัยที่มีคุณภาพในระดับนานาชาติ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และการวิจัยทางด้านการเกษตรและวิทยาศาสตร์กับมหาวิทยาลัยเกษตรกรรมอันฮุย จะช่วยเสริมศักยภาพการศึกษาและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยให้เติบโตอย่างมั่นคง ตลอดจนพัฒนาขีดความสามารถของนักศึกษาให้เป็นที่ยอมรับในตลาดแรงงานระดับสากล ความร่วมมือนี้ยังเป็นการสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งตรงตามยุทธศาสตร์ของกระทรวง อว. ที่มุ่งยกระดับความเป็นนานาชาติของการอุดมศึกษาไทย”

ในส่วนของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยมาสฐ์ ตัณฑ์เจริญรัตน์ คณบดี ได้ให้ความเห็นว่า “การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรกรรมอันฮุยเป็นโอกาสสำคัญที่ช่วยให้เราสามารถพัฒนาการเรียนการสอนและการวิจัยที่ตอบโจทย์ความต้องการของโลกในปัจจุบัน โดยเฉพาะด้านการเกษตรและการพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ซึ่งถือเป็นเป้าหมายสำคัญของคณะ ความร่วมมือครั้งนี้จะเปิดทางให้เกิดโครงการวิจัยร่วม การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การพัฒนาหลักสูตรและโครงสร้างการเรียนการสอนที่ทันสมัย รวมถึงการเปิดโอกาสให้นักศึกษาของเราได้สัมผัสประสบการณ์จริงในระดับนานาชาติ ซึ่งจะช่วยพัฒนาทักษะและขยายมุมมองให้กับนักศึกษาในการเตรียมตัวเข้าสู่การทำงานในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย อันจะส่งผลให้มหาวิทยาลัยมีการขยายฐานจำนวนการรับนักศึกษาเข้าศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นในส่วนของคณะวิศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตรอีกด้วย”

การลงนามในครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสองมหาวิทยาลัย แต่ยังเป็นก้าวสำคัญในการสร้างเครือข่ายวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตรที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน








ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา