โลโก้เว็บไซต์ กลุ่มงานยุทธศาสตร์ SPU มทร.ล้านนา เข้าร่วมอบรม “Professional Coordinator” เสริมศักยภาพผู้ประสานงาน Talent Mobility | งานสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

กลุ่มงานยุทธศาสตร์ SPU มทร.ล้านนา เข้าร่วมอบรม “Professional Coordinator” เสริมศักยภาพผู้ประสานงาน Talent Mobility

เผยแพร่เมื่อ : พุธ 9 กรกฎาคม 2568 โดย Natthida Wongpaeng จำนวนผู้เข้าชม 83 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

กลุ่มงานยุทธศาสตร์ SPU มทร.ล้านนา เข้าร่วมอบรม “Professional Coordinator” เสริมศักยภาพผู้ประสานงาน Talent Mobility

เมื่อวันที่ 7–9 กรกฎาคม 2568  เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการ กลุ่มงานยุทธศาสตร์ SPU มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ในฐานะ Talent Mobility Clearing House ได้เข้าร่วมการอบรมโครงการ Professional Coordinator: โปรแกรมพัฒนาผู้ประสานงานโครงการระดับมืออาชีพ ณ อาคารเคเอกซ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

โครงการนี้จัดขึ้นภายใต้ โครงการการเคลื่อนย้ายบุคลากรเพื่อพัฒนาศักยภาพการวิจัยในภาคอุตสาหกรรม (Talent Mobility) โดยมีระยะเวลาดำเนินกิจกรรมระหว่างเดือนกรกฎาคม–สิงหาคม 2568 

โดยโครงการอบรม Professional Coordinator: โปรแกรมพัฒนาผู้ประสานงานโครงการระดับมืออาชีพ จัดขึ้นเพื่อยกระดับบทบาทและศักยภาพของผู้ประสานงานโครงการ Talent Mobility ให้สามารถทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงช่วยพัฒนาความรู้ ทักษะ ทัศนคติ และสร้างเครือข่ายผู้ประสานงานโครงการให้สามารถทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมและสถาบันอุดมศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถและศักยภาพของผู้ประสานงาน ให้มีความรู้ ทักษะ และทัศนคติที่เหมาะสมต่อบทบาทหน้าที่ของตนเอง สามารถดำเนินงานโครงการด้านการวิจัยและพัฒนาได้อย่างมั่นใจ และตอบสนองต่อความต้องการของทั้งสองภาคส่วนได้อย่างตรงจุด

            ในการอบรมครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมได้รับความรู้และทักษะจากหัวข้อการอบรมที่หลากหลาย ครอบคลุมทั้งมิติของการคิดวิเคราะห์ การบริหารจัดการ การเข้าใจธุรกิจ การสร้างเครือข่าย และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่

เริ่มต้นด้วย การแก้ปัญหา (Problem Solving) ซึ่งผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้วิธีคิดเชิงวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ การแยกแยะโครงสร้างของปัญหา เทคนิคการค้นหาสาเหตุที่แท้จริง (Root Cause Analysis) พร้อมทั้งฝึกทักษะการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างมีแบบแผน เพื่อให้สามารถประเมินทางเลือกต่าง ๆ และตัดสินใจได้อย่างแม่นยำและมีเหตุผล

จากนั้นเป็นเรื่องของ การบริหารโครงการ (Project Management) โดยเน้นหลักการและแนวคิดพื้นฐานในการวางแผนโครงการ ตั้งแต่การกำหนดขอบเขตและเป้าหมาย จัดทำแผนงาน การใช้เครื่องมือและเทคนิคในการบริหารจัดการ การจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณ ตลอดจนกระบวนการติดตาม ประเมินผล และปิดโครงการอย่างมีประสิทธิภาพ

ต่อมาผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้เกี่ยวกับ การวิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจและการตลาด (Business and Marketing Trend Analysis) เพื่อทำความเข้าใจธุรกิจและอุตสาหกรรมในภาพรวม เรียนรู้หลักการวิเคราะห์ตลาด การติดตามแนวโน้มทางธุรกิจและเทคโนโลยี การประเมินความต้องการของอุตสาหกรรม และวิธีการจับคู่ความเชี่ยวชาญกับความต้องการของสถานประกอบการ รวมถึงเทคนิคการนำเสนอข้อมูลเชิงลึกให้มีประสิทธิภาพ

อีกหัวข้อสำคัญคือ การวิเคราะห์ DISC Model ซึ่งช่วยให้เข้าใจลักษณะบุคลิกภาพของตนเองและเพื่อนร่วมงานผ่านมุมมองของ Dominance, Influence, Steadiness และ Compliance รวมถึงกิจกรรมการจำลองสถานการณ์เพื่อฝึกฝนวิธีการรับมือกับการทำงานร่วมกับบุคลิกภาพที่หลากหลาย

ในส่วนของ การสร้างเครือข่าย (Connection) ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของการสร้างเครือข่าย การวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและการจัดทำแผนที่เครือข่าย ฝึกทักษะการเจรจาต่อรอง แก้ไขความขัดแย้ง การสร้างกลไกความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ตลอดจนการวางแผนและรักษาความสัมพันธ์ในระยะยาว

สุดท้ายคือหัวข้อที่ทันสมัยอย่างยิ่ง ได้แก่ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI Integration) ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้พื้นฐานของ AI และแนวทางการนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการโครงการ Talent Mobility เช่น การใช้เครื่องมือ AI ในการจัดการเอกสาร การจับคู่ความต้องการกับบุคลากรวิจัย การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อติดตามและประเมินผล ตลอดจนการออกแบบและนำเสนอโครงการที่ใช้ AI อย่างสร้างสรรค์

การอบรมในครั้งนี้ไม่เพียงแต่เสริมสร้างองค์ความรู้และทักษะเชิงลึกเท่านั้น แต่ยังเป็นเวทีสำคัญในการสร้างเครือข่ายกับผู้ประสานงานจาก Talent Mobility Clearing House ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางการทำงานที่ดีร่วมกันอีกด้วย ซึ่งจะเป็นเครือข่ายสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินงานโครงการในอนาคตอีกด้วย 

 

 





ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา