เผยแพร่เมื่อ : พฤหัสบดี 15 กุมภาพันธ์ 2561 โดย วิทยา กวีวิทยาภรณ์ จำนวนผู้เข้าชม 8856 คน
ศาสตราจารย์ ดร.ธีรวุฒิ บุณยโสภณ นายกสภามหาวิทยาลัย พร้อมด้วย ผศ.ประพัฒน์ เชื้อไทย รักษาราชการแทนอธิการบดี คณะผู้บริหารคณาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เฝ้ารับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินติดตามการสนองงาน ประจำปี พ.ศ.2560 ณ ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561 โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้รับพระมหากรุณาธิคุณและพระราชทานพระราชานุมัติให้ดำเนินงาน จำนวน 4 โครงการหลักประกอบด้วย
โครงการที่ 1 การพัฒนาพันธุ์และรักษาพันธุ์พืชผักและพืชอาหาร 11 ชนิด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้พัฒนาพันธุ์พืช 11 ชนิด อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ พริกขี้หนูสวน พริกขี้หนูใหญ่(ชี้ฟ้า) พริกใหญ่(หนุ่ม) มะเขือเทศ มะเขือเปาะ แตงกวา ถั่วฝักยาว ถั่วฝักยาวไร้ค้าง ผักกวางตุ้ง บวบเหลี่ยม และฟักทอง โดยการพัฒนาพันธุ์ให้มีลักษณะเด่น 3 ลักษณะคือ 1.ทำให้เป็นพันธุ์ ผสมเปิด ให้เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ปลูกเองได้ต่อเนื่อง 2.คัดเลือกให้ได้พันธุ์ที่เจริญเติบโตได้ดี มีความแข็งแรงทนทานต่อโรคและแมลง 3.มีผลผลิตที่ดี ทั้งปริมาณและคุณภาพ ไม่แพ้พันธ์การค้าอย่างต่อเนื่อง ในปี พ.ศ.2560 ได้ดำเนินการส่งมอบข้อมูลให้ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ พิจารณาขึ้นทะเบียน จำนวน 3 ชนิดพืช ได้แก่ ถั่วฝักยาว มะเขือเทศ เบอร์ 2 และ มะเขือเทศ เบอร์ 4
โครงการที่ 2 การผลิตเมล็ดผักประจำปี 2560 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ดำเนินการผลิตเมล็ดพันธ์ให้แก่ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริจำนวน 9 ชนิดพืช เพื่อใช้ในการเป็นเมล็ดพันธุ์สำรอง แจกเกษตรกร และผู้สนใจ ได้แก่ เมล็ดพันธุ์พริกใหญ่ เมล็ดพันธุ์พริกขี้หนู เมล็ดพันธุ์พริกขี้หนูสวน เมล็ดพันธุ์มะเขือเทศเบอร์ 2 เมล็ดพันธุ์บวบเหลี่ยม เมล็ดพันธุ์ถั่วฝักยาว เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเทียนหวาน เมล็ดพันธุ์คะน้า และเมล็ดพันธุ์ผักกาดกวางตุ้ง
โครงการที่ 3 การบริหารจัดการควบคุมศัตรูพืชอย่างปลอดภัยในศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้าน ได้ดำเนินการดังต่อไปนี้
1. เตรียมสารชีวภัณฑ์และสารสกัดจากพืช ให้เพียงพอในการใช้งาน รวมทั้งคู่มือการใช้และสูตรมาตรฐานในเรื่องของสารออกฤทธิ์ เบื้องต้นใช้ในพื้นที่ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริจำนวน 100 ไร่ เป้าหมายลดการใช้สารเคมี 100 เปอร์เซนต์ ในปี 2560 ได้นำส่งสารชีวภัณฑ์ดังนี้
จำนวนผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช
• ไตรโครเดอร์ม่า 100 กิโลกรัม
• สารสกัดจากพืชกำจัดแมลง 100 ลิตร
• สารสกัดจากพืชกำจัดโรค 100 ลิตร
• เชื้อรากำจัดแมลง 100 กิโลกรัม
• ต้นหางไหลสำหรับแจกเกษตรกร 1,000 ต้น
2. มหาวิทยาลัยได้จัดทำโครงการเพิ่มเติม ในการให้ความรู้และส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพร ที่จะเป็นแหล่งวัตถุดิบการผลิตสารชีวภัณฑ์ เช่น หางไหล ไพล ทองพันชั่ง พลู เป็นต้น ให้ตัวแทนเกษตรกร 2 หมู่บ้าน จำนวน 35 ครัวเรือน จัดทำแปลงปลูกพืชสมุนไพร จัดเตรียมสารชีวภัณฑ์ จัดการฝึกอบรมการใช้สารชีวภัณฑ์ให้แก่เกษตรกรเครือข่าย และเจ้าหน้าที่ของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ อีกทั้งผลิตและแจกกล้าพันธุ์สมุนไพรให้แก่เกษตรกร เพื่อใช้ในพื้นที่ของตน
โครงการที่ 4 การผลิตแตงกวาผลสั้น แตงกวาผลยาว มะเขือเทศเบอร์ 2 และเบอร์ 4 ผลสดทั้งปี ในพื้นที่ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้าน ได้ได้คัดเลือกพัฒนา และปรับปรุงพันธุ์แตงกวาผลสั้น แตงกวาผลยาว มะเขือเทศรับประทานผลสด เบอร์ 2และเบอร์ 4 โดยมีการปลูก ภายในพื้นที่ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จำนวน 24 รุ่น
โดยสามารถส่งผลผลิตสูงกว่าเป้าหมาย
• แตงกวาผลสด เป้าหมาย 1,200 กิโลกรัม
ส่งแล้ว 1,655 กิโลกรัม สูงกว่าเป้าหมาย 455 กิโลกรัม
• มะเขือเทศเบอร์ 2 และเบอร์ 4 เป้าหมาย 1,200 กิโลกรัม
ส่งแล้ว 1,776 กิโลกรัม สูงกว่าเป้าหมาย 576 กิโลกรัม
จากการดำเนินการ คือไม่สามารถผลิตได้อย่างสม่ำเสมอตลอดปี สำหรับมะเขือเทศมีปัญหาในฤดูฝน ส่วนแตงกวามีปัญหาการผลิตในฤดูหนาว แนวทางการแก้ไขปัญหาในปี 2561 คือ ควบคุมปัจจัยสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมโดยการผลิตในโรงเรือน
ในโอกาสนี้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายมะเขือเทศพันธุ์ใหม่จำนวน 2 พันธุ์ และถั่วฝักยาว 1 พันธุ์ พร้อมกันนี้ได้พระราชทานชื่อมะเขือเทศพันธ์ุจักรพันธ์ 1 มะเขื่อเทศพันธ์ุจักรพันธ์ 2 และถั่วฝักยาวพันธุ์ล้านนาชวนอร่อย
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา